• ประเมินความพึงพอใจ
 
 
จำนวนผู้เยี่ยมชม  
สาระน่ารู้/เรื่องราวประทับใจ >> รายละเอียด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การรักษาด้วยการให้ “ เลือด ” และการบริจาค “ เลือด ” โดย ผศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล

การรักษาด้วยการให้ “ เลือด ” และการบริจาค “ เลือด ” มารู้จัก “ เลือด ” กันเถอะ “ เลือด ” ที่ให้ผู้ป่วย ได้มาจากไหน

การรักษาด้วยการให้ “ เลือด ” และการบริจาค “ เลือด ”

ผศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล

 

การรักษาด้วยการให้   “ เลือด ”  และการบริจาค “ เลือด ”

       คำว่าเลือดอาจฟังดูน่าหวาดเสียว และน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว เลือดเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย มีผู้ป่วยหลายประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้เลือด  เช่น ผู้ป่วยผ่าตัด   ผู้ป่วยโรคเลือด  ผู้ป่วยมะเร็ง การรักษาหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ เช่น การผ่าตัดใหญ่ การปลูกถ่ายอวัยวะ การปลูกถ่ายไขกระะดูก เป็นต้น จะไม่สามารถทำได้หากไม่มีเลือด

มารู้จัก  “ เลือด ”  กันเถอะ

       ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร สารน้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างการทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว (ส่วนน้ำ) และเซลล์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน กล่าวคือ

       เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย  เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณ  40 - 45%  ของเลือดทั้งหมด  และมีอายุ 120 วัน
       เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่  ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหาร ปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณประมาณ 1% ของเลือด
       เกร็ดเลือด  ทำหน้าที่  ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก  มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด  
       พลาสมา เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่  ไขมัน  ฮอร์โมน  ไวตามิน  มีปริมาณ 55% ของเลือด

การรักษาด้วยการให้  “ เลือด ”   หมายถึงอะไร

       หมายถึง รักษาที่ต้องให้เลือดแก่ผู้ป่วย หากผู้ป่วยขาดส่วนประกอบใดส่วนหนึ่งของเลือดไป จนเกิดภาวะผิดปกติ จะต้องมีการให้สิ่งที่ขาดทดแทน เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ  การให้เลือดจะพิจารณาให้เฉพาะส่วนที่ผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เรียกว่า การให้ส่วนประกอบของเลือด  ยกตัวอย่าง  เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีเลือดออกจากภาวะเกร็ดเลือดต่ำให้เฉพาะเกร็ดเลือด เม็ดเลือดแดงสำหรับโรคโลหิตจาง เช่น ธาลัสซีเมีย    และพลาสมาสำหรับโรคตับ

       ก่อนการให้เลือด หากเป็นการให้เม็ดเลือดแดงจะต้องตรวจเลือดที่จะให้ว่าเข้ากับเลือดผู้ป่วยได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากหมู่เลือดระบบเอบีโอ  ต้องให้หมู่เลือดที่เข้ากันได้ ผู้ป่วยจึงจะปลอดภัยและต้องนำเลือดผู้ป่วยมาผสมกับเลือดที่จะให้เพื่อทำปฏิกิริยาในหลอดทดลอง  หากเข้ากันได้จึงจะผูกป้ายว่าผ่านการตรวจแล้วรอการเบิกไปให้ผู้ป่วย    เมื่อทำการให้เลือดจะใช้เข็มแทงเข้าผ่านเส้นเลือดดำ ให้เลือดค่อย ๆ ไหลเข้ากระแสโลหิต  ส่วนใหญ่การให้เลือดใช้เวลาประมาณ  2-4 ชั่วโมง

“ เลือด ”  ที่ให้ผู้ป่วย ได้มาจากไหน

        ได้มาจากคนปกติที่มีจิตศรัทธาเป็นกุศล ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หากปราศจากคนที่มีจิตกุศลเหล่านี้  ผู้ป่วยหลายรายอาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้  ผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดต้องผ่านการสัมภาษณ์ โดยการถามข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ถ่ายทอดผ่านการให้เลือดได้ และถามปัญหาสุขภาพของผู้บริจาค เพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเลือดครั้งนั้นมีความปลอดภัยทั้งกับผู้บริจาคเลือดและผู้รับเลือด แล้วจึงทำการเจาะเก็บเลือด เพื่อนำไปแยกส่วนมาเตียมไว้ให้ผู้ป่วย พร้อมกันนั้นเลือดทุกถุงต้องทำการตรวจหมู่เลือดและตรวจกรองการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี และซิฟิลิส เพราะเชื้อดังกล่าวติดต่อผ่านการให้เลือดได้ และผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย เฉพาะเลือดที่ผ่านการตรวจแล้วจึงจะมีการติดป้ายหมู่เลือด และนำไปเตรียมรอการขอใช้จากผู้ป่วย
 หากท่านมีญาติที่เจ็บป่วย มีความต้องการเลือด เป็นโรคเลือดไม่ใช่เลือดออก ต้องผ่าตัด หรือประสบอุบัติเหตุ   ท่านคงเข้าใจว่า  “ เลือด ”   มีความจำเป็นต่อการรักษาชีวิตของผู้ป่วยอย่างไร

มาช่วยกันบริจาค  “ เลือด ”  เถอะค่ะ

       ช่วยกันบริจาคเลือดเก็บไว้   เพื่อให้มีเลือดอย่างเพียงพอสำหรับผู้ป่วยใช้ได้ตลอดเวลา  หากมีผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดจะได้มีเลือดให้ผู้ป่วยได้ทันที เลือดเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความต้องการทุกวันตลอดปี ไม่เลือกเวลา การช่วยชีวิตคนเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่    ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ทำได้   จึงขอให้ไปบริจาคเลือดกันเถอะค่ะ

ใครบริจาค  “ เลือด ”  ได้บ้าง

       - ผู้ที่สุขภาพแข็งแรง  อายุ 18  ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
       - ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติ
       - นอนหลับอย่างเพียงพอ
       - ไม่มีไข้    
       - ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านการให้เลือด กล่าวคือ ไม่เคยใช้ยาเสพติดขนิดฉีด ไม่เคยตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี และ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี 

การบริจาค “ เลือด ”  เสี่ยง หรือไม่

       การบริจาคเลือด ใช้เข็มใหม่ทุกถุง  ใช้ครั้งเดียว  จึงไม่ทำให้ผู้บริจาคติดเชื้อจากการมาบริจาคเลือด
       ผู้บริจาคบางท่านอาจรู้สึกเวียนศีรษะ  หน้ามืด  เป็นลม  มึนงง หลังบริจาคเลือดได้  แต่อาการเหล่านี้เป็นชั่วคราวในบางคน และจะหายไปหลังจากได้พักผ่อน รับประทานอาหาร  ดังนั้นหลังบริจาคเลือดควรดื่มน้ำมาก ๆ   เม็ดเลือดจะถูกสร้างใหม่ทดแทน ในเวลา 4 - 8 สัปดาห์  จึงไม่ให้บริจาคเลือดถี่เกินไป
       ผู้ชาย  3 เดือน   บริจาคเลือด 1 ครั้ง 
       ผู้หญิง 6 เดือน   บริจาคเลือด 1 ครั้ง

ติดต่อบริจาคเลือด  ได้ที่ ธนาคารเลือด  ตึก 72 ปี ชั้น 3  วันจันทร์- วันศุกร์ เวลา 08.30-18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 08.30-16.30 น. 

       ถ้าท่านมีความประสงค์จะบริจาคเลือดเป็นหมู่คณะฯ โปรดติดต่อในวันและเวลาราชการ เวลา 08.30-16.30 น.

       โทรศัพท์  02-419-8081 ต่อ 110

รายละเอียดอ้างอิงจาก